ขั้นตอนการผลิต สังกะสีแผ่นเรียบ ผลิตยังไงให้ทนทาน

07 ธันวาคม 2566
ขั้นตอนการผลิต สังกะสีแผ่นเรียบ ผลิตยังไงให้ทนทาน

เมื่อพูดถึง “สังกะสี” ย่อมเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่เพียงคนในแวดวงของการก่อสร้างเพียงเท่านั้น เพราะนี่คืออีกหนึ่งชนิดของโลหะที่สามารถพบเจอได้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันในทุก ๆ วัน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของอาคารบ้านเรือน ไปจนถึงของใช้ทั่ว ๆ ไปที่เราอาจคิดไม่ถึง บทความนี้เราจะมาเจาะลึกไปจนถึงกระบวนการผลิต “สังกะสีแผ่นเรียบ” มาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้โลหะแผ่นชนิดนี้ได้รับความนิยม เกิดจากขั้นตอนไหน และมีเคล็ดลับอะไรถึงทำให้มันแข็งแรงทนทานได้ถึงเพียงนี้

สังกะสีแผ่นเรียบคืออะไร ?

ก่อนอื่นนั้น คงต้องขอทำความรู้จักกับ “สังกะสีแผ่นเรียบ” ให้มากกว่าเดิมอีกสักหน่อย มั่นใจได้ว่าหลาย ๆ คนที่เห็นชื่อที่ถูกเรียกจนติดปากว่า “แผ่นสังกะสี” อาจคิดว่านี่คือแผ่นของแร่สังกะสีที่นำมารีดจนเป็นแผ่น แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะนี่คือแผ่นเหล็กที่ถูกผสมผสานเข้ากับแร่สังกะสี เพื่อดึงเอาจุดเด่นของแร่ทั้ง 2 ชนิดออกมาจนกลายเป็นแผ่นสังกะสีอย่างที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งโลหะแผ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีราคาที่ถูก หาซื้อได้ง่าย แถมยังมีความแข็งแรงคงทน ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ

สังกะสีแผ่นเรียบถูกนำไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง ?

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของแผ่นสังกะสีที่มีทั้งความ แข็งแรงคงทน , ทนต่อสภาพอากาศ , ทนต่อการกัดกร่อน และ มีน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายอย่าง อาทิเช่น

ใช้สำหรับการทำเป็นหลังคาหรือผนัง พบได้ในแหล่งพักอาศัยต่าง ๆ ที่อาจไม่ใช่ที่พักแบบถาวร รวมไปถึงใช้เพื่อการออกแบบตกแต่งในสไตล์ลอฟต์ในบางแห่ง

ถูกนำไปใช้เป็นรางน้ำ เนื่องจากสังกะสีได้รับการเคลือบได้มีความทนทานต่อความชื้น ไม่เกิดสนิมได้ง่าย ๆ จึงถูกนำไปดัด ตัด ต่อ จนกลายเป็นรางน้ำที่พบได้บ่อยที่สุด

ถูกนำไปทำเป็นท่อสำหรับระบบระบายอากาศ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ท่อแอร์” เราจะพบท่อที่ทำจากสังกะสีแผ่นที่นำมาทำเป็นท่อลักษณะต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะท่อลมสำหรับระบายอากาศ

อุตสาหกรรมยานยนต์ ในปัจจุบันมีการนำเอาสังกะสีไปเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์ โดยเฉพาะในชิ้นส่วนที่ต้องการน้ำหนักเบา และทนทานต่อการกัดกร่อนเป็นพิเศษ

ขั้นตอนการผลิตสังกะสีแบบแผ่น พร้อมเทคนิคพิเศษที่ทำให้มีความทนทานเพิ่มมากขึ้น

มาถึงส่วนสำคัญของบทความนี้กันแล้ว อย่างที่เราได้เกริ่นไปในช่วงต้นของบทความว่า เราจะมาเจาะลึกถึงกรรมวิธีการผลิตสังกะสีแผ่นเรียบ โดยจะเจาะลึกถึงวิธีที่ทำให้เกิดความแข็งแรงทนทาน เพื่อไม่ให้เนื้อหายืดเยื้อจนเกินไป เราจะขอกล่าวสรุปวิธีการทำแบบพอสังเขป ซึ่งจะมุ่งเน้นไปในกระบวนการที่ทำให้เกิดความแข็งแรงทนทานต่อแผ่นกระเบื้องเป็นหลัก ดังเนื้อหาต่อไปนี้

การแปรรูปแร่สังกะสีให้พร้อมต่อการผลิต

ในกระบวนการแรก จะเป็นการเตรียมแร่สังกะสี สำหรับรอเคลือบแผ่นเหล็กที่เตรียมเอาไว้ โดยจะต้องทำให้แร่ที่ได้มานั้นบริสุทธิ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะมีกระบวนการหลายขั้นตอนจนกลายเป็นแร่สังกะสี 100% และเช่นเดียวกันในกระบวนการเตรียมเหล็ก ก็ต้องทำให้เหล็กไม่มีสิ่งสกปรกติดอยู่บนเนื้อเหล็ก เพื่อทำให้กระบวนการเคลือบนั้นมีประสิทธิภาพสูงที่สุด สาเหตุที่ต้องใช้ “เหล็ก” ผสมกับ “สังกะสี” เพราะว่าต้องการคุณสมบัติการยืดหยุ่นของเหล็ก ผสมผสานเข้ากับ คุณสมบัติแข็งแรง คงทน และ ทนต่อสนิมของสังกะสี นั่นเอง

นำเหล็กไปผ่านกระบวนการ “รีดร้อน” และ “รีดเย็น”

ก่อนจะมาเป็นสังกะสีแบบแผ่น มักจะเริ่มต้นจากการที่เป็นโลหะที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป โดยจะผ่านการรีดให้กลายเป็นแผ่นด้วยกระบวนการ “รีดร้อน” โลหะจะถูกทำให้ร้อนจนอ่อนตัว จากนั้นจะนำมารีดจนแบน เพื่อทำให้โลหะอยู่ในลักษณะแผ่นเรียบตามที่ต้องการ จากนั้นจะถูกนำไป “รีดเย็น” ซึ่งจะไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการนี้ โลหะจะถูกรีดให้มีขนาดบางมากกว่าเดิม และมีความเรียบมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากการทำให้มีพื้นผิวที่สวยงามแล้ว กระบวนการนี้ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของแผ่นโลหะได้อีกด้วย

เคลือบด้วยสารป้องกันสนิม และ ตัดแต่งเพื่อให้ได้สังกะสีแผ่นเรียบที่ต้องการ

ในกระบวนการสุดท้าย การที่จะเปลี่ยนให้ “แผ่นโลหะ” กลายเป็น “แผ่นสังกะสี” คือการนำแผ่นโลหะที่ผ่านการรีดเย็นและทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว มาทำการ “จุ่มร้อน” ซึ่งเป็นการเคลือบแผ่นเหล็กด้วยสังกะสีด้วยความร้อนที่สูงมาก ทำให้เหล็กและสังกะสีนั้นผสานเป็นเนื้อเดียวกัน สังกะสีจะเคลือบเป็นเหมือนกับผิวของแผ่นเหล็กที่นำไปเข้ากระบวนการ และเมื่อนำออกจากกระบวนการจุ่มร้อน แผ่นสังกะสีก็จะถูกทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการสุดท้าย เก็บรายละเอียดต่าง ๆ และแปรรูปเป็นแผ่นสังกะสีตามต้องการ


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.